ช่วงเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม 2564 มูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ (Digital4Peace) โดยได้รับการสนับสนุนจาก โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับ เทศบาลนครยะลา เทศบาลเมืองปัตตานี และเทศบาลเมืองนราธิวาสได้จัดโครงการในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมที่คิดค้นขับเคลื่อนโดยเยาวชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการแก้ไขปัญหาตลาดสดและระบบอาหารในชุมชนของพวกเขาเอง
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 โครงการ ฯ จึงสามารถรองรับผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 31 คนจากจำนวนคนสมัครร้อยกว่าคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ดีเนื้อหาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์คิดค้นนวัตกรรมเป็นเนื้อหาที่มีคุณค่า และเพื่อให้สังคมได้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน Digital4Peace จึงรวบรวม เรียบเรียงหลักสูตรการปั้นนวัตกรรมทางสังคมสำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเเละพัฒนานวัตกรรมทางสังคมได้อย่างเสรี
จะปั้นนวัตกรรมได้ ต้องเรียนรู้อย่างไร ?

รูปแบบการเรียนรู้เพื่อการคิดค้นเเละสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมจะใช้การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือ Problem-based Learning โดยในเนื้อหาหลักสูตรในโครงการนี้ จะเริ่มต้นด้วยการกอบไปด้วย 4 ขั้นต้น คือ
- Sense – เราจะเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจถึงปัญหาหรือบริบทของปัญหาอย่างลึกซึ้งก่อนว่า อะไรที่ทำให้เกิดปัญหานั้น ปัญหานั้นเกิดขึ้นอย่างไร และเราสามารถพัฒนาตรงไหนได้บ้าง ?
- Explore – หลังจากนั้นให้เรามองปัญหาให้ลึกลงไปอีก ศึกษา ทบทวน ค้นคว้าความรู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาให้ลึกซึ้ง ค้นหาปัญหาที่แท้จริง แล้วเราเองสามารถแก้ไขปัญหตรงไหน อย่างไรบ้าง ?
- Test – ต่อมาเมื่อเราศึกษาปัญหาอย่างลึกซึ้งแล้ว ให้เราลองตั้งสมมุติฐาน ทดลอง ติดตามผล และออกเเบบการแก้ไขปัญหาหลากหลายรูปแบบ ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งดี
- Grow – ต่อมาคือการต่อยอด ขยายผล กล่าวคือ ให้เราเลือกแนวทางการเเก้ไขปัญหาที่เราถนัดที่สุด ทำง่ายที่สุด และในขณะเดียวกันก็มีผลกระทบเชิงบวกให้มากที่สุด
ทักษะการสร้างสรรค์คิดค้นนวัตกรรมต้องใช้ทักษะการคิดอย่างน้อย 3 ทักษะการคิดหลัก ๆ คือ ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytic Thinking) และทักษะการคิดเชิงระบบ (Systematic Thinking) อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ในรูปแบบการใช้ปัญหาเป็นฐานจะสามารถให้ผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมทางสังคมพัฒนาทักษะการคิดในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ได้ในเวลาเดียวกัน
การแปรเปลี่ยนนิยามของคำว่า ‘นวัตกรรม’
นิยามของคำว่านวัตกรรมได้ถูกเเปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยของมนุษยชาติ ในสมัยหนึ่งนวัตกรรมหมายถึงอำนาจใหม่ ในสมัยหนึ่งนวัตกรรมเป็นเรื่องของการประดิษฐ์คิดค้นผลทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงในปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และมีผลประโยชน์จากการจดลิขสิทธิ์และทำกำไรจากนวัตกรรมเป็นกอบเป็นกำ
จนกระทั่งโลกเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนเเปลงอย่างรวดเร็ว แล้วส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน ความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ สรรพสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ธรรมชาติและสิ่งแวตล้อมบนโลกที่อาศัยอยู่ จนถึงการเปลี่ยนเเปลงของภาวะภูมิอากาศอย่างรุนแรง
นวัตกรรมจึงถูกนิยามขึ้นมาใหม่ ประกอบกับการถูกตั้งคำถามถึงบทบาทของนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ต่อมนุษย์เเละสิ่งแวตล้อม ไม่ใช่ในด้านเศรษฐกิจในแง่ที่สามารถหารายได้เพียงอย่างเดียว แต่นวัตกรรมที่สามารถช่วยสังคมมนุษย์และสิ่งแวตล้อมในมิติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้น คำว่าผลกระทบในเชิงบวกของนวัตกรรมได้ทำให้นวัตกรรมไม่ได้อยู่แต่ในด้านธุรกิจและเศรษฐกิจของบริษัทเอกชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเเพร่ขยายไปสู่มิติอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น ทั้ง นวัตกรรมในด้านการเมืองการปกครอง นวัตกรรมที่ช่วยในด้านการศึกษา เป็นต้น และนี่คือจุดเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของนวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation
แล้วนวัตกรรมจริง ๆ แล้วคืออะไรนะ ?

พูดถึงนวัตกรรมแล้วความคิดแวบแรกของผู้คนโดยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่านวัตกรรมต้องเป็นวิทยาศาสตร์ขั้นสูงที่คิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์หัวฟูในห้องปฎิบัติการทางวิทยาศาสตร์ อย่างจรวจของ NASA หรือรถยนตร์ไร้คนขับสุดหรูต่าง ๆ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานแสงอาทิตย์แน่ ๆ
แต่จริง ๆ แล้ว อย่างที่เล่ามาข้างต้นคำว่า ‘นวัตกรรม’ เองก็มีการเปลี่ยนแปลงคำนิยามตามความเข้าใจของผู้คนเเละการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย โดยสรุปแล้วนวัตกรรมคือ …

นวัตกรรม คือ ความสามารถในการการเปลี่ยนแปลงจากไอเดียใหม่สู่สิ่งที่มีคุณค่าต่อชุมชนหรือสังคม (From Creativity to Impactful Reality)
กล่าวโดยสรุปคือกว่าจะเป็นนวัตกรรมได้นั้นต้องมาจาก 3 องค์ประกอบคือ
- ไอเดียใหม่ หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ หรือ ไอเดียใหม่ ๆ ที่อาจจะเป็นความคิดที่ใหม่ไปเลยก็ได้ หรือเป็นความคิดเก่าที่เรียบเรียงขึ้นมาใหม่ก็ได้
- ทำได้จริง หมายถึง ความสามารถในการนำความคิดไอเดียใหม่ ๆ เหล่านั้นมาลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง ด้วยการทดสอบ ปรับปรุง พัฒนา กระบวนการนี้อาจจะเป็นกระบวนการที่ทำซ้ำ ๆ ต่อยอด ปรับปรุง จนกระทั่งได้ผลงานนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจริง และหากมีเพียงไอเดียใหม่ ๆ แต่ปราศจากการลงมือทำเเล้วสิ่งนั้นอาจจะเป็นไดเพียงความคิดสร้างสรรค์ที่ยังไม่ได้เป็นนวัตกรรมต่อไป
- คุณค่าต่อชุมชน หมายถึง นอกจากการความสามารถในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ แล้วทำให้มันเกิดขึ้นจริงแล้ว นวัตกรรมต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชุมชนหรือสังคมด้วย
หากนำคำนิยาม หรือ 3 องค์ประกอบเหล่านี้เอามาคิดต่อ ว่าอะไรเป็นนวัตกรรม อะไรที่ไม่ใช่นวัตกรรมบ้าง เราจะสามารถมีความคิดที่เปิดกว้างว่า นวัตกรรมนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ขั้นสูง เพราะบางที บางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเราอาจจะเป็นสิ่งที่ ‘เกือบ’ จะเป็นนวัตกรรม หรือ อาจจะเป็นนวัตกรรมไปเเล้วด้วย สิ่งเหล่านั้นอาจจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เป็นสิ่งใหม่ที่เราทำไม่เหมือนคนอื่น ทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น หรือเสียเวลาน้อยลง ลองใช้เวลาครุ่นคิดดู บางทีสิ่งนั้นอาจจะเป็นนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคมในอนาคตจริง ๆ ได้ด้วย

บางครั้งหากเราเดินไปในที่ต่าง ๆ หากเราสังเกตเห็นบางสิ่งบางอย่างที่คนในชุมชนนั้น ๆ สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอะไรบ้างอย่าง แต่แล้วสิ่งเหล่านั้นก็ทำให้เกิดประโยชน์ อย่างน้อยที่สุดก็เกิดประโยชน์แก่เขาเอง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดประโยชน์แก่ชุมชนสังคมโดยรอบได้หากเราต่อยอด ขยับขยาย พัฒนา ต่อไป
สิ่งที่แหล่ะที่เรียกว่า นวัตกรรมชุมชน เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาโดยชุมชนคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เช่น ตลาด สวนสาธารณะ โรงเรียน สถานที่ทางศาสนา เป็นต้น นวัตกรรมชุมชนเหล่านั้น เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาโดยชุมชน หรือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบเอง หรือในอีกชื่อหนึ่งสามารถเรียกได้ว่า Grassroot Innovation หรือนวัตกรรมรากหญ้า
นวัตกรรมรากหญ้า (Grassroot Innovation)

การแก้ไขปัญหามีหลายวิธี โดยปกติแล้ว เรามักจะมีวิธีการในการแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งด้วยการศึกษาปัญหาอย่างละเอียดรอบคอบก่อน เเล้วเมื่อศึกษาปัญหานั้นอย่างถ่องแท้แล้ว จึงค่อยคิดค้นแนวทางแก้ไขปัญหา วิธีนี้เรียกว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการวิเคราะห์ปัญหา (Problem Analysis)
หรืออีกแบบหนึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างตัวต้นแบบ (Prototyping) คือการแก้ไขปัญหาด้วยการนำปัญหามาก่อน โดยไม่จำเป็นต้องไปศึกษาปัญหาอย่างลึกซึ้งเสียก่อน เเต่เราอาจจะมุ่งสร้างตัวต้นแบบหรือตัวอย่างมาก่อนสักตัวอย่างหนึ่ง แล้วค่อยนำตัวอย่างมาทดสอบกับปัญหานั้น ซ้ำ ๆ จนกลายเป็นวิธีการแก้ปัญหา
มีวิธีการแก้ไขปัญหาอีกแบบหนึ่งคือการค้นหาทางออกก่อน เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแบบแก้ขัด หรืออาจจะเป็นนวัตกรรมรากหญ้า (Grassroot Innovation) ที่ยังไม่ได้ถูกนำไปสร้างคุณค่า แล้วลองศึกษาว่าทำไมถึงมีการแก้ปัญหานั้น บางครั้งที่เกิดการแก้ปัญหาแบบแก้ขัดนั้นเกิดขึ้นเพราะมีปัญหาอะไรบางอย่างก่อนหรืออาจจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างก็ได้ แล้วทีนี้ เราจึงเอามาพัฒนาต่อยอดให้สามารถขยายผลและผลิตซ้ำ ๆ ต่อไปในอนาคต วิธีนี้คือวิธีการแก้ปัญหาที่เรียกว่าการวางแผนที่แนวทางแก้ไขปัญหา (Solution Mapping)
นวัตกรรมชุมชนมีรูปแบบไหนบ้าง ?

เฉกเช่นเดียวกันกับนวัตกรรมอื่น ๆ ที่นวัตกรรมไม่ได้หมายถึงสิ่งของที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียว แต่นวัตกรรมมีหลากหลายรูปแบบ ทั้ง นวัตกรรมที่เป็น นวัตกรรมในรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ นวัตกรรมรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model Innovation) นวัตกรรมข้อมูล (Data-driven Innovation) เป็นต้น นวัตกรรมชุมชน หรือ นวัตกรรมรากหญ้า ก็เฉกเช่นเดียวกัน นวัตกรรมชุมชนในรูปแบบของวัตถุ อุปกรณ์ สิ่งของ สิ่งที่จับต้องได้ นวัตกรรมในรูปแบบของการให้บริการหรือระบบการบริหารจัดการ นวัตกรรมชุมชนในเชิงของความสัมพันธ์ หรือ นวัตกรรมชุมชนที่เป็นการบริหารจัดการข้อมูล ก็สามารถเป็นนวัตกรรมชุมชน หรือนวัตกรรมรากหญ้าเฉกเช่นเดียวกัน
เรามาดูตัวอย่างนวัตกรรมชุมชนกัน
ลองอ่านอะไรที่เป็นในเชิงทฤษฎีกันแล้ว อาจจะรู้สึกสงสัยว่าเอ เเล้วอะไรคือตัวอย่างของนวัตกรรมชุมชนกันนะ เราลองมาดูตัวอย่างของนวัตกรรมชุมชนกัน

ท่อ PVC หรือท่อน้ำประปาโดยส่วนใหญ่เป็นท่อที่ไว้ลำเลียงส่งน้ำประปาจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เเต่เนื่องด้วยท่อ PVC เป็นวัสดุที่มีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ง่าย ท่อ PVC ถูกนำมาดัดเเปลงมาเป็นอุปกรณ์หลาย ๆ อย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นเรือนปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือเอามาทำเป็นล้อช่วยขาสุนักพิการ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง Covid-19 ที่มีการนำท่อ PVC มาใช้ดัดแปลงมามาอย่างเเพร่หลาย ทั้งที่ฉีดเจลแอลกอฮอลล้างมือแบบไม่ต้องใช้มือ หรือที่กั้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือประเทศยูกานดาที่มีนวัตกรรมชุมชนที่เป็นธุรกิจใหม่ในยุคโควิด-19 คือการมีธุรกิจมอเตอร์ไซค์รับบจ้าง พ่วงกับการบริการทางด้านการเงินผ่านมือถือ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เเพร่หลายอยู่แล้วในพื้นที่นั้น ๆ ในขณะเดียวกัน นวัตกรรมชุมชนใหม่นี้สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ได้ด้วย
มองนวัตกรรมชุมชนได้ที่ไหนอย่างไรได้บ้าาง ?

นวัตกรรมชุมชนหรือนวัตกรรมรากหญ้านั้นสามารถมองหาได้จากการเข้าอกเข้าใจชุมชนอย่างลึกซึ้ง (Empathy) หรือกกล่าวโดยละเอียดคือต้องเปิดหู เปิดตา เปิดใจ เป็นคนที่ช่างสงสัย หรือตั้งคำถามกับสิ่งที่พบเจอในตลาด การคิดในแง่บวกว่าชุมชนมีศักยภาพ มีไอเดียดีดี และถึงแม้ว่ามีปัญหาหรืออุปสรรค์หรือข้อจำกัดบางอบ่าง ชุมชนสามารถแก้ปัญหาได้
นอกจากนี้สิ่งสำคัญของการค้นหานวัตกรรมชุมชนคือหาวิธีในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และการคิดคำนึงอยู่เสมอว่าต้องยึดผู้คนเป็นศูนย์กลาง (Human-Centric Approach) ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้คนมากกว่าการตั้งใจมุ่งหาวิธีแก้ไขปัญหา
ส่วนขั้นตอนของการมองหานวัตกรรมมี 3 ขั้นตอนคือ
- กำหนดขอบเขตพื้นที่ว่าเราจะค้นหาทำความเข้าใจในนวัตกรรมรากหญ้าในขอบเขตไหนก่อนเป็นอันดับแรก
- เมื่อพบเจอนวัตกรรมรากหญ้าแล้ว ให้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับชุมชนด้วย โดยการสอบถามหรือสัมภาษณ์หรือวิธีอื่น ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจชุมชนมากขึ้น และ
- บันทึกภายเเละทำการวิเคราะห์เพื่อทำมาสู่การขยายผลต่อไป
บทความนี้ทำให้เรารู้จักนวัตกรรมชุมชนหรือนวัตกรรมรากหญ้าแล้ว บทความต่อไปจะพูดถึงการสัมภาษณ์ การสังเกต และวิธีการคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหา (หรือ Ideation) ว่าจะทำอย่างไร ?